*ธรรมยาตราเดินเทสสันถี : ศาสตร์และศิลป์แห่งการเผยแผ่ธรรมะแบบพื้นถิ่น*
ในยุคที่โลกที่หมุนเร็วด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร “การเดิน” อาจดูเชื่องช้าและไม่ทันใจสำหรับผู้ที่ต้องการความเร่งรีบ แต่ที่จังหวัดลำพูนในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ การเดินกลับกลายเป็นการตระหนักรู้ร่วมกัน ของประชาชนที่เข้าร่วมงาน “ธรรมยาตราเดินเทสสันถี ตามวิถีครูบาสู่บุคคลสำคัญของโลก” เป็นการฟื้นคืนจิตวิญญาณของประชาชนและชุมชน ที่เชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่ทุกย่างก้าวตามรอยเส้นทางวิถีแห่งธรรม
คำว่า “ธรรมยาตรา” หมายถึง การเดินทางด้วยธรรมะ เป็นการเดินที่เต็มไปด้วยสติ ความศรัทธา และการแผ่เมตตา เปรียบเสมือนการนำพาธรรมะออกจากวัด ไปสู่ใจผู้คนในชุมชน
ส่วนคำว่า “เทสสันถี” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “เทศสันตรี” หรือ “เทศสันติ” ซึ่งประกอบด้วย “เทศ” (เทศะ) หมายถึง สถานที่ และ “สันติ” (สันตรี) หมายถึง ความสงบสุข รวมความหมายว่า การเดินทางจาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติธรรมและโปรดสัตว์ให้เกิดความสงบสุข สำหรับภาษาล้านนา มีลักษณะการแปลงเสียงเมื่อตัวอักษรกลางควบกับอักษรต่ำ เช่น “ตร” (สันตรี) กลายเป็น “ถ” (สันถี) จึงเกิดเป็นคำว่า “เทสสันถี”
เมื่อรวมกัน “ธรรมยาตราเดินเทสสันถี” หมายถึง การเดินทางจาริกของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน
ไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างสงบสุข เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนในรูปแบบที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา เข้าใจได้โดยไม่ต้องตีความซับซ้อน มุ่งเน้นการเข้าถึงจิตใจของประชาชนอย่างลึกซึ้ง และเป็นพลังขับเคลื่อนวิถีชีวิตชุมชนให้มีความร่มเย็นและมั่นคงในคุณธรรมจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
“ธรรมยาตราเดินเทสสันถี” เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2566 โดยภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัดลำพูน เพื่อสืบสานแนวทาง และอุดมการณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย พระเถระผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไทย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความรับรู้ และประชาสัมพันธ์การเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโกอีกด้วย
ท่านเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ผู้ยึดมั่นในหลักธรรมและมุ่งบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ ด้วยท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์ในอนาคต จึงต้องอาศัยการบำเพ็ญเพียรบารมีให้ครบ 10 ประการ และได้อุทิศตนสร้างบารมีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคม และมีคุณูปการโดดเด่นในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ตลอดจนการส่งเสริมคุณธรรม ความสามัคคี และจิตสำนึกทางศาสนาแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ
สำหรับ “ธรรมยาตราเดินเทสสันถี ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 1-11 มิถุนายน 2568 เป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 3 สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงแนวทาง “ธรรมยาตรา” ตามแบบอย่างที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยปฏิบัติ ซึ่งเน้นการเดินทางเผยแผ่ธรรมะ ให้แก่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ต่างๆ ตลอด 11 วันของการธรรมยาตรา โดยจะเดินไปตามเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์ และศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดลำพูน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม ณ วัดต่าง ๆ ตลอดเส้นทางธรรมยาตรา ได้แก่
วัดที่ 1 วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ศิษย์เอกรูปหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นก็คือ ครูบาชัยวงศ์ษา เป็นเป็นผู้สร้างขึ้น ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยง ที่เคยนับถือผี หันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเคารพนับถือครูบาเจ้าศรีวิชัย แม้ท่านจะไม่ได้สร้างวัดนี้โดยตรง แต่หลักธรรมและแนวปฏิบัติของท่านได้จุดประกายศรัทธาแก่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เป็นจุดเริ่มต้นของการธรรมยาตราด้วยพลังศรัทธาของศิษยานุศิษย์
วัดที่ ๒ วัดพระพุทธบาทผาหนาม เป็นวัดที่ศิษย์เอกรูปหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นก็คือ ครูบาอภิชัยขาวปี วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยเคยเดินทางมาเผยแผ่ธรรมะและปลุกพลังศรัทธาแก่ชาวบ้าน โดยเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและเรียบง่าย แม้ในพื้นที่ห่างไกล ท่านยังเชื่อมโยงความศรัทธาให้หยั่งรากอย่างมั่นคง
วัดที่ 3 วัดแม่ตืน ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งในอดีตยังขาดแคลนทรัพยากร ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เคยเดินทางมายังพื้นที่นี้เพื่อเทศนาธรรมและสนับสนุนการบูรณะวัด ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีวัดเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน
วัดที่ 4 วัดบ้านปาง นี่คือบ้านเกิด และเป็นวัดประจำตระกูลของครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านได้ใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่นี่ และเป็นสถานที่ที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาพระธรรมครั้งแรก วัดนี้จึงเปรียบเสมือน “จุดกำเนิดแห่งแสงธรรม” ของท่าน และเป็นวัดที่ท่านได้ไปพัฒนาวัดอื่นๆ แล้ว ขอกลับมาละสังขาร หรือมรณภาพ ที่วัดแห่งนี้
วัดที่ 5 วัดห้วยหละ อยู่ในพื้นที่ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยเดินทางผ่านและแสดงธรรมแก่ชาวบ้าน มีเรื่องเล่าขานถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่ร่วมมือกันฟื้นฟูวัดด้วยแรงศรัทธาที่ครูบาริเริ่มไว้ ซึ่งสะท้อนพลังแห่งความร่วมมือที่เป็นหัวใจสำคัญของแนวทางธรรมยาตรา
วัดที่ 6 วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้อุปสมบท และเรียนธรรมะ คำสอน ภาวนา การทำสมาธิ จากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัด วัดแห่ง่นี้เป็นฐานการเผยแผ่ธรรมะ และจุดรวมของการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ท่านเชื่อมโยงพลังใจของชาวบ้านผ่านทั้งธรรมะและการลงมือปฏิสังขรณ์วัดร่วมกัน
วัดที่ 7 วัดบ้านเวียงหนองล่อง เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลทางธรรมะจากครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยเฉพาะเรื่องความเรียบง่าย ความอดทน และความเมตตา วัดแห่งนี้เป็นจุดพักของธรรมยาตราที่สื่อถึงการเชื่อมต่อธรรมะจากลุ่มน้ำลี้ สู่ลุ่มน้ำปิง
วัดที่ 8 วัดพระพุทธบาทตากผ้า พระอารามหลวง วัดเก่าแก่ที่ครูบาศรีวิชัยเคยมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา วัดนี้ยังเคยเป็นสถานที่รวมศรัทธาในการเคลื่อนไหวเพื่อการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ของครูบาเจ้าศรีวิชัย
วัดที่ 9 วัดรมณียาราม (กู่ละมัก) วัดโบราณที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างศรัทธาในยุคโบราณกับศรัทธาสมัยใหม่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมาเยือนสถานที่นี้เพื่อเสริมแรงศรัทธาในการบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งโบราณสถานอันทรงคุณค่าของวัด
วัดที่ 10 วัดจามเทวี เดิมเป็นวัดร้าง ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เข้าไปบูรณะ และสร้างเสนาสนะและยกขึ้นเป็นวัด และภายหลังจากมรณภาพ ได้นำสรีระสังขารมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดแห่งนี้
ซึ่งเป็นวัดที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งกับจามเทวีวงศ์ และเคยเป็นศูนย์กลางทางธรรมะในสมัยโบราณ ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ความเคารพในปูชนียบุคคลในอดีต และเคยเข้ามาเยือนเพื่อสักการะและเสริมสร้างจิตสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมแก่ประชาชน และ วัดที่ 11 วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร วัดสำคัญประจำเมืองลำพูน ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยเป็นผู้นำในการปฏิสังขรณ์บูรณะครั้งใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของการรวมพลังของมหาชน และจุดเริ่มต้นการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในเวลาต่อมา
การเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโก เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาล โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับจังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คณะสงฆ์ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในพื้นที่
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และนายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้ลงพื้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน ตรวจเยี่ยมและรับฟังความคืบหน้าการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารเสนอรายชื่อ ที่มีการรวบรวมข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพัฒนาการทางสังคม โดยพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เจ้าอาวาส
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ให้ข้อมูลว่า ภาคคณะสงฆ์ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการ เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตนบุญแห่งล้านนา” ด้วยคุณูปการด้านการเผยแผ่ธรรม และพัฒนาท้องถิ่น เช่น การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ อาศัยแรงศรัทธา และจิตอาสาของประชาชน การบูรณะวัดวาอารามหลายแห่งในภาคเหนือ และการยึดมั่นในความสมถะอย่างแท้จริง
การขับเคลื่อนโครงการนอกจากการรวบรวมข้อมูลภายในประเทศแล้ว คณะทำงานจัดทำเอกสารยังได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณูปการที่มีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในประเทศ และในระดับสากลการลงพื้นที่ใน 3 ประเทศดังกล่าว จึงเป็นการรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงแนวคิด จริยธรรม และผลงานซึ่งได้รับการยอมรับ และมีคุณค่าร่วมในกลุ่มวัฒนธรรมพุทธที่หลากหลาย เพื่อนำข้อมูลมาจัดเรียบเรียงและจัดทำเป็นข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ เพื่อยื่นต่อองค์การยูเนสโกให้พิจารณาประกาศการยกย่องและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. 2571 โดยทุกฝ่ายอยู่ระหว่างดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด\\\
ไม่มีความคิดเห็น