Breaking News

กสอ. ตั้งเป้าไทยเป็น มิลานของเอเชีย อัดงบ 80 ล้าน เร่งฝีจักรผลิตนักออกแบบไทย สู้ศึกอุตฯแฟชั่น


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าไทยเป็น "มิลานแห่งเอเชีย" ด้วยการผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่าน 3 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า พร้อมรุกเดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการออกแบบซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยเตรียมผลักดันผ่านโครงการต่าง ๆ ด้วยงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างนักออกแบบและผลิตภัณฑ์ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ THAILAND INDUSTRIAL DESIGN CENTER โครงการ TIFA โครงการ Thai Touch Project ฯลฯ โดยเบื้องต้นต้องพัฒนาปัจจัยหลักในการยกระดับได้แก่ การออกแบบ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และการเพิ่มแนวทางในการขยายตลาด ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่มีมูลค่าอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท ได้อย่างแน่นอน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคในระดับต่างๆยังมีความต้องการและกำลังซื้อในระดับสูง พร้อมกันนี้ยังมีแนวโน้มในการผลิตเพื่อส่งออกในต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย รวมถึงยังสามารถขยายเข้าสู่ยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากความมีเอกลักษณ์ของสินค้า รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีในด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมแฟชั่นของเมืองไทย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในระดับแถวหน้าของทวีป โดยในขณะนี้เป็นรองแค่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการเติบโตที่ดีดังกล่าว กสอ. จึงได้วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นในภูมิภาคอาเซียนและก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับเอเชีย หรือเป็น "มิลานแห่งเอเชีย" ในขั้นต่อไป

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเป้าหมายหลักในการส่งเสริมเพื่อให้ตอบโจทย์ดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาใน 3 อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า ผ่านการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาการออกแบบ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาตราสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการออกแบบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเติบโตและก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดรับความต้องการตามยุคสมัย การผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าให้กับสินค้า การเพิ่มแนวทางในการขยายตลาด ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการก้าวผ่านการพัฒนาดังกล่าวได้ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีรายได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมแฟชั่นดังที่หลายประเทศ ทั่วโลกได้เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมดังกล่าว อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2560 กสอ. ได้จัดสรรงบประมาณเบื้องต้น กว่า 70 ล้านบาท เพื่อผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการและนักออกแบบด้านแฟชั่นผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างนักออกแบบและผลิตภัณฑ์ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สตล์ พร้อมกันนี้ยังมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ THAILAND INDUSTRIAL DESIGN CENTER รวมถึงโครงการ Thai Touch Project เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นได้วางเป้าหมายให้เกิดการจัดตั้งกิจการได้ไม่น้อยกว่า 125 กิจการ เกิดผู้ประกอบการมากกว่า 1,140 คน / 25 ราย สร้างเครือข่าย 1 เครือข่าย (40คน) พร้อมทั้งสามารถพัฒนาสินค้าได้มากกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ โดยยังได้ตั้งเป้าให้เกิดมูลค่าทางอุตสาหกรรมแฟชั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2558 มูลค่าอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมรุกแผนการประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งหากสามารถพัฒนาเป้าหมายที่วางไว้ได้ทุกจุด ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

ด้านนางสาววทันยา ศิริวรรณ นักออกแบบจากโครงการ Thai Touch Project เจ้าของผลงาน Surreal Stitch กล่าวว่า การผลักดันและส่งเสริมการเพิ่มจำนวนนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างยิ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโตในระดับโลกที่รวดเร็ว รวมทั้งสร้างมูลค่าส่งออกให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยมีความได้เปรียบ ในด้านคุณภาพสินค้าที่มีความประณีต ครอบคลุมประเภทสินค้าที่หลากหลาย รวมทั้งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งข้อได้เปรียบต่าง ๆ เหล่านี้สามารถช่วยขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไทยได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามในการส่งเสริมและช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐ ตนมองว่ายังจำเป็นที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านแหล่งเงินทุนที่ช่วยต่อยอดแนวความคิด การสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้แสดงผลงานหรือฝีมือ การจัดกิจกรรมอบรมในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการรับรู้ สร้างการจดจำและเป็นที่รู้จักในระดับต่าง ๆ ได้ในที่สุด

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr

ไม่มีความคิดเห็น