Breaking News

แพทย์เตือนคนไทยระวัง ‘โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว’


เนื่องใน “วันหัวใจโลก” หรือ World Heart Day วันที่ 29 กันยายน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเตือนคนไทยระวัง “ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว” (Atrial Fibrillation) ที่พบได้ในผู้ป่วยสูงอายุ น้ำหนักตัวมาก และผู้ป่วยโรคหัวใจ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนี้ถ้ามาพร้อมกับ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือในผู้สูงอายุ จะทำให้สุ่มเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตและเสียชีวิตได้ แนะใช้หลักการ F-A-S-T สังเกตอาการ ใบหน้าเบี้ยว แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด มีอาการแบบปัจจุบันทันด่วน ให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที

ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเสี่ยงที่จะเป็นโรค “ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว” หรือ Atrial Fibrillation (AF) โดยส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง ล้วนแต่เป็นโรคท็อปฮิต ถ้าปล่อยไว้นานย่อมส่งผลกระทบลุกลามอาจเกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต จากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิต
วันที่ 29 กันยายนของทุกปีถือเป็น “วันหัวใจโลก” หรือ World Heart Day ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมกับนานาชาติ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจและภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องของสุขภาพ พฤติกรรมใช้ชีวิต การรักษาและการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ


ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ชาญ ศรีรัตนสถาวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวถึงโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ AF ว่า ปัจจุบันคนไทยเสี่ยงเป็นโรค AF เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว ในภาวะนี้หัวใจห้องบนเต้นเร็วหรือเต้นพลิ้วด้วยความถี่สูง เช่น ประมาณ 300-400 ครั้งต่อนาที และส่งกระแสประสาทหรือกระแสไฟฟ้าลงมายังหัวใจห้องล่างแบบไม่สม่ำเสมอ ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วขึ้นตามไปด้วยแต่ไม่เร็วเท่าห้องบน การทำงานจึงไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลต่อการทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เกิดอาการใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนหน้ามืด เหนื่อยง่าย หายใจไม่ออก
นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่มีปัจจัยเสี่ยงควบคู่ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ง่าย เพราะการทำงานของหัวใจที่เต้นผิดปกติ ทำให้เกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจหลุดออกจากหัวใจไปอุดตันส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขนขาหรือสมอง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยจากสถิติพบว่าคนไข้ที่เป็นภาวะ AF ที่มีปัจจัยเสี่ยงควบคู่ มีความเสี่ยงไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้ประมาณ 4-5% ต่อปี
“อาการที่หมอแนะนำให้รีบพาผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลแขนขาอ่อนแรงขยับไม่ได้ แม้ในบางครั้งอาการจะหายไปเองก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโรค Stroke ถ้ารักษาไม่ทันเวลาใน 3-4 ชั่วโมง สมองจะเสียหายหนักกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีอาการหายใจเหนื่อยหอบเพราะกล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ทันแล้วน้ำท่วมปอด หอบเวลากลางคืน อาการวูบหมดสติเพราะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน สิ่งที่อาจจะตามมาคือหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต”
นพ.ชาญ ระบุว่า การรักษาที่ดีคือต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักๆ จากโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหนักตัว โรคไทรอยด์ ภาวะนอนกรน อีกส่วนคือช่วงอายุที่มากขึ้น  ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็น AF ประมาณ 1-2% และอายุ 80 ปีขึ้นไปพบเพิ่มเป็น 10-12% รวมถึงความเครียดเช่นในช่วงโควิด-19 ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งได้
“หนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่มีปัจจัยเสี่ยงควบคู่คือการป้องกัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยยาต้านเลือดแข็งตัว ซึ่งมีแบบดั้งเดิมที่ออกฤทธิ์ผ่านทางวิตามินเค และแบบที่ออกฤทธิ์ไม่ผ่านทางวิตามินเค หรือเรียกว่า NOACs ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ออกฤทธิ์ผ่านทางวิตามินเค เช่น วาร์ฟาริน อาจจะได้รับผลกระทบจากอาหารและยาหลายชนิด เช่น ถ้าคนไข้ใช้ยาร่วมกับสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรก็อาจจะมีฤทธิ์ต้านเลือดแข็งตัวมากขึ้น ยาต้านเลือดแข็งตัวที่ออกฤทธิ์ไม่ผ่านทางวิตามินเค ดูจะมีความสะดวกและผลข้างเคียงน้อยกว่ายารูปแบบเดิม อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้องขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยว่าคนไข้เหมาะสมกับยารูปแบบใด การใช้ยาต้านเลือดแข็งตัวในผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอย่างเหมาะสมจะเป็นประโยชน์ลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต จะได้ประโยชน์มาก”

ทางด้าน พ.อ. นพ. เจษฎา อุดมมงคล นายกสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย และ ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระบุว่าคนไทยเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อยู่ที่ประมาณ 100-200 รายต่อประชากรแสนคน และเสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 30,000 ราย และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะทุพพลภาพสูงมาก ในจำนวนนี้โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือ AF ประมาณ 10-20%
“โรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น สามารถป้องกันได้มากกว่าสาเหตุอื่นๆ หรือป้องกันได้ราว 60-70% ทั้งที่ยังไม่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่เนื่องจากโรคนี้ยิ่งอายุมากยิ่งพบได้บ่อยและมักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเป็นช่วงๆ จึงแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและเพิ่มการตรวจละเอียดเมื่อมีข้อบ่งชี้ตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือใช้เครื่องตรวจไฟฟ้าหัวใจ และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น AF และประเมินความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็จะมียาป้องกันเลือดเป็นลิ่ม โดยที่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับผู้ที่เคยป่วยสมองขาดเลือดมาแล้วและมี AF สามารถป้องกันการเป็นซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ทั้งเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต บุหรี่ เป็นต้น และควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ที่สำคัญควรพบแพทย์และทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะความเสี่ยงยังคงอยู่ ซึ่งทั้งยากลุ่ม VKA อย่างวาร์ฟาริน และกลุ่ม NOACs สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองกลับมาเป็นซ้ำได้ และยังช่วยลดภาวะทุพพลภาพและลดอัตราการเสียชีวิต หากมีอาการเกิดซ้ำ
สำหรับในช่วงการระบาดของโควิด 19 พ.อ.นพ เจษฎา เตือนว่ามีปัจจัยที่ต้องระวัง เพราะผู้ติดเชื้อโควิดเป็นกลุ่มที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย ซึ่งมักพบในปอดและบางรายพบที่สมองได้ จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด Viral Vector ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบบเกล็ดเลือดต่ำสูงกว่าวัคซีนประเภทอื่นและการรักษามีความซับซ้อน และหากผู้ป่วยติดเชื้อโควิดและเป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วย กระบวนการรักษาจะยากลำบากขึ้นมาก
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค ขอให้ประชาชนสังเกตสัญญาณเตือนของร่างกาย จำง่ายๆ ว่า F-A-S-T ซึ่งย่อมาจาก Face หมายถึงใบหน้าผิดปกติ หน้าเบี้ยว Arm แขนชาหรืออ่อนแรง Speech พูดไม่ชัด พูดไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ได้ และ Time คือเกิดอาการแบบปัจจุบันทันด่วนและหากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ขอให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที หรือ โทร.1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น