Breaking News

อพท. มุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่ “กรีนเดสติเนชั่นผนึก 9 พันธมิตร เตรียมมอบเรือไฟฟ้าเที่ยว “คลองดำเนินสะดวก"

 

พท. จับมือ 9 หน่วยงาน ผลิตเรือไฟฟ้าส่งมอบชุมชน “ตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวก” ลั่นกลองส่งเสริมต้นแบบการท่องเที่ยวไร้มลพิษ


นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับพื้นที่และชุมชนให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ในมิติการพัฒนาว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมผลประโยชน์และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบวิถีคลองในพื้นที่คลองดำเนินสะดวกแห่งนี้ ได้ยึดหลักเกณฑ์ GSTC และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand  ประกอบกับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาลที่ตอบเป้าหมาย Green Economy คือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน และ      ยังช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว

 


***ผนึก 9 พันธมิตร พัฒนาเรือไฟฟ้ามอบชุมชน***

ล่าสุดได้ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU  เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบสำหรับเรือหางยาวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีคลองอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมเจ้าท่า สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมการท่องเที่ยว จังหวัดราชบุรี อำเภอดำเนินสะดวก เทศบาลตำบลดำเนินสะดวก และเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนตำบลดำเนินสะดวก บูรณาการความร่วมมือ ยกระดับตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็น “ต้นแบบการท่องเที่ยววิถีคลองที่ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในระยะ 5 ปี นับจากนี้

“ อพท. และ 9 หน่วยงานจะมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีคลองในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวกไปสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคลองดำเนินสะดวกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่มีมาตรฐานการบริการท่องเที่ยวทางน้ำในระดับสากล มีศักยภาพต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่ง ททท. จะนำจุดขายที่เป็นจุดแข็งนี้ ไปทำการตลด เชิญชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ให้เดินทางเข้ามา ขณะเดียวกันพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวคูคลองอื่นๆ ก็สามารถมาศึกษาดูเป็นต้นแบบ นำไปพัฒนาในชุมชนของตัวเองได้เช่นกัน”


การพัฒนาเรือหางยาวไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้ เกิดจากความต้องการของคนในชุมชน ที่แจ้ง ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในคราวลงตรวจเยี่ยมพื้นที่คลองดำเนินเมื่อปีที่ผ่านมาว่าต้องการเรือไฟฟ้า เพราะเสียงและควันที่เกิดจากเรือให้บริการนักท่องเที่ยวสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อพท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงรับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการให้เกิดผล โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและเป็นที่มาของความร่วมมือจัดทำเรือไฟฟ้าต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะได้รับจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายครั้งแรก เพื่อมาวิ่งให้บริการนักท่องเที่ยว และจะเป็นต้นแบบเรือที่ให้บริการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เห็นประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยมลภาวะ และนำไปขยายผลต่อไป”  

***มอบเรือต้นแบบ 5 ลำใน 5 ชุมชนต้นแบบ***

 นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การพัฒนาเรือต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ของ กฟภ. นี้ถือเป็นครั้งแรก โดยจะประสานกับกรมเจ้าท่า จดทะเบียนเรือให้ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน  กฟภ. ยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการและสนับสนุนเรือไฟฟ้าให้แก่ชุมชนในพื้นที่ตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวก ปีละ 5 ลำ นาน 5 ปี รวม 25 ลำ  คาดว่าจะเริ่มส่งมอบปีแรกได้ราวเดือนมกราคม 2565  เบื้องต้นจะส่งมอบให้แก่ชุมชนที่ อพท. เข้าไปพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ "วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน"  ได้แก่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดโชติทายการาม ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านมหาดเล็กเจ๊กฮวด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลี วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสวนเกษตรแม่ทองหยิบดำเนินสะดวก และชมรมคนรักษ์ตลาดน้ำดำเนินสะดวก (ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว)


ทั้งนี้แสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดที่นำมาพัฒนาใช้กับเครือยนต์ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีแดดแรงแผงโซล่าเซลล์ จะเก็บพลังงานนำมาใช้ได้ตลอดวัน กรณีไม่มีแดด ก็จะเสียบไฟฟ้าบ้านได้โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงวันละ 50 บาท ส่วนราคาเรือพร้อมเครื่องยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ปัจจุบันจะอยู่ที่ลำละ 150,000-250,000 บาท ในอนาคตหากมีการใช้แพร่หลาย ราคาก็อาจปรับลดได้อีก  

***ชุมชนสานต่อและดูแลเรือไฟฟ้า***

นายสนธยา คอนกำลัง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดโชติทายการาม กล่าวว่า ชุมชนจะนำเรือไฟฟ้าที่ได้รับมอบนี้ไปให้บริการแก่นักท่องเที่ยว รายได้ที่ได้รับส่วนหนึ่งจะนำไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายให้คนขับเรือและค่าไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งหักเป็นค่าดูแลบำรุงรักษาเรือเพื่อให้มั่นใจว่าเรือไฟฟ้าช่วยลดมลพิษทางเสียง ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพจิต และสุขภาพกายที่ดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ด้านการบริหารจัดการดูแลโดยชุมชนด้วย

นายไพศาล ศรีเอี่ยมกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสวนเกษตรแม่ทองหยิบ  กล่าวว่า การนำเรือไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวจะให้ผลตอบรับที่ดี เพราะช่วยลดเสียง ลดควันจากท่อไอเสียเครื่องยนต์เรือ ลดผลกระทบจากชุมชนรอบข้าง นักท่องเที่ยวไม่ต้องทนนั่งเรือที่มีเสียงดัง ทำให้การท่องเที่ยวเพลิดเพลินขึ้น และหากผลตอบรับจากผู้ใช้บริการประทับใจ เชื่อว่าในอนาคตในคลองดำเนินสะดวกจะมีการเพิ่มจำนวนการใช้เรือไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวก ในช่วงสถานการณ์ท่องเที่ยวปกติจะมีเรือหางยาวท่องเที่ยวให้บริการต่อวันกว่า 700 ลำ และมีข้อมูลปี 2561 จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 จังหวัดราชบุรีที่ร่วมกับกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ  และเทศบาลตำบลดำเนินสะดวก ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน บริเวณตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักต้นทางเข้าคลองตลาดน้ำดำเนินสะดวก  พบว่าคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณนั้น ในช่วงที่มีค่าสูงสุดวัดปริมาณได้ถึง 87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่าปกติที่กำหนดต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ลดปัญหาดังกล่าวหากผลตอบรับดีและเกิดการขยายผลมีการทยอยปรับมาใช้เรือไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าว  


อย่างไรก็ตามการพัฒนาเรือหางยาวไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้ เกิดจากความต้องการของคนในชุมชน ที่แจ้ง ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในคราวลงตรวจเยี่ยมพื้นที่คลองดำเนินเมื่อปีที่ผ่านมาว่าต้องการเรือไฟฟ้า เพราะเสียงและควันที่เกิดจากเรือให้บริการนักท่องเที่ยวสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อพท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงรับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการให้เกิดผล อีกทั้งยังเป็นการขยายผลจากโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบวิถีคลอง เส้นทาง "วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน"  ซึ่ง อพท. ดำเนินการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ที่ต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบวิถีคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เหมาะสม โดยให้ยึดหลักการให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการให้มากที่สุด  

ไม่มีความคิดเห็น