Breaking News

รมว.สุดาวรรณ” เผยความยิ่งใหญ่ตระการตา 26 ริ้วขบวน หน่วยงานภาครัฐ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งส่วนกลาง - ภูมิภาคกว่า 3,000 คน รวมใจเป็นหนึ่งเดียวเฉลิมพระเกียรติในหลวง 11 ก.ค. เริ่มเคลื่อนริ้วขบวนจากถนนราชดำเนินกลางสู่ท้องสนามหลวง ในงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

รมว.สุดาวรรณ” เผยความยิ่งใหญ่ตระการตา 26 ริ้วขบวน หน่วยงานภาครัฐ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งส่วนกลาง - ภูมิภาคกว่า 3,000 คน รวมใจเป็นหนึ่งเดียวเฉลิมพระเกียรติในหลวง 11 ก.ค. เริ่มเคลื่อนริ้วขบวนจากถนนราชดำเนินกลางสู่ท้องสนามหลวง ในงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวงเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย โดยมีพิธีเปิดงานวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30 - 19.00 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 26 ขบวน ซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมกว่า 3,000 คน ได้แก่ ขบวนที่ 1 วงดุริยางค์ 4 เหล่า ขบวนที่ 2 ขบวนธงชาติ ธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ วปร. และธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ขบวนที่ 3 ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ  4 เหล่า ขบวนที่ 4 บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 5 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 6 รถเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมบุคลากร ขบวนที่ 7 หน่วยงานราชการ 16 กระทรวง ขบวนที่ 8 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคเหนือ ขบวน“มณฑลอุดรทิศ ดินแดนสามธรรม เทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วยการฟ้อนกิงกะหร่า ตุง โคม จำลอง “พระธาตุพระสิงห์” พระธาตุประจำปีมะโรง อันเป็นปีพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ (องค์จำลอง) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ การสาธิตปั่นฝ้าย การแสดงฟ้อนขันดอก ฟ้อนเล็บและตีกลองสะบัดชัย 

ขบวนที่ 9 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวน “ตุ้มโฮม ฮอยฮีต ศรัทธา พญานาคา นาคี สดุดีองค์ราชัน” ประกอบด้วยขบวนอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมเครื่องราชสักการะ พญานาค ขบวนแห่นางอัปสรา ขบวนชุดผ้าไทยประจำจังหวัดและอัตลักษณ์ 20 จังหวัด ขบวนธุง ฟ้อนรำกลองยาว หมอลำเพลินและกลองยาว ขบวนที่ 10 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก ขบวน“มัชฌิม บูรพา ปวงประชาเทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วย ขบวนชุดลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด 25 จังหวัด รถบุปผชาติเฉลิมพระเกียรติจำลองโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช้างเอราวัณอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา รำแตรวงและการแสดงพื้นบ้าน หนังใหญ่  รำกลองยาว ขบวนอัตลักษณ์พหุวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ภาคกลางและภาคตะวันออกและการละเล่นกระตั้วแทงเสือ 

ขบวนที่ 11 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคใต้  ขบวน “พหุวัฒนศิลป์ถิ่นปักษ์ใต้ ปวงประชาเทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วยมีขบวนเครื่องราชสักการะ ขบวนแต่งกายประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และขบวนพหุวัฒนธรรม ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมลายู ชาวไทยจีน ขบวนไหว้พระจันทร์ และขบวนเฉลิมพระเกียรติที่มีนกบุหรงซีรอ (นกสิงห์) ทำเป็นเรือเตียงมัส บุหงาซีเระ (พานบายศรี) 9 ชั้นและว่าวเบอฮามัส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ตามความเชื่อของชาวไทยมลายู เทริดโนราและการแสดงรำมโนราห์ ขบวนที่ 12 กลุ่มชาติพันธุ์ ขบวนที่ 13 รถเฉลิมพระเกียรติฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขบวนที่ 14 รถเฉลิมพระเกียรติฯ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย  ขบวนที่ 15 รถเฉลิมพระเกียรติฯ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 16 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี

ขบวนที่ 17 รถเฉลิมพระเกียรติฯ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ขบวนที่ 18 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 19 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ขบวนที่ 20 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารออมสิน ขบวนที่ 21 องค์การศาสนา 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ – ฮินดูและซิกข์ ขบวนที่ 22 เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขบวนที่ 23 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 24 บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด  ขบวนที่ 25 สมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย ขบวนที่ 26 สมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา สำหรับเส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลางไปยังท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเฉพาะกิจให้บริการรับ – ส่งประชาชนเดินทางมาร่วมงานฟรี ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 - 22.00 น. จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ฝั่งเกาะพญาไท) - สนามหลวง 2. สายใต้ใหม่ - สนามหลวง 3. หมอชิต - สนามหลวง 2 4. วงเวียนใหญ่ - สนามหลวง 5. สนามหลวง - ท่าช้าง - ท่าเตียน (เดินรถวงกลม) โดยมีจุดจอดรับ - ส่ง บริเวณหน้าศาลฎีกา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765

--------------

ไม่มีความคิดเห็น