Breaking News

สสท. เปิดเวที คุย "ทิศทางการพัฒนาสหกรณ์อิสลามสู่ความยั่งยืน"

 

(วันที่ 20 สิงหาคม 2566) สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัด เวที เสวนา "หัวข้อ "ทิศทางการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคของกลุ่มสหกรณ์อิสลามในประเทศไทย"  ร่วม อภิปรายประเด็น ปัญหาอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ และ แนวทางในการแก้ไข รวมถึงทิศทางการเชื่อมโยงธุรกิจและธุรกรรมในระบบสหกรณ์เพื่อการพัฒนาสหกรณ์อิสลามสู่ความยั่งยืน ผู้เสวนา ประกอบด้วย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. , นายอับดุลรอชีด เจะมะ ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด,นายชรินทร แพทยนันทเวช ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสงขลา และ นายมุฮัมมัด มินเด็น ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรละงู จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย นายมนุชาธิป วรกาญจนานนท์ อดีตสหกรณ์จังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมโรงแรมเซาท์เทอร์น แอร์พอร์ต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา



สำหรับแนวคิดในการจัดเสวนาดังกล่าวเนื่องจากการดำเนินการของสหกรณ์อิสลามนั้นแตกต่างจากสหกรณ์ทั่วไปที่มีการใช้ระบบดอกเบี้ย และการดำเนินธุรกิจรูปแบบสหกรณ์อิสลามมีความแตกต่างที่เจตนาอย่างชัดเจนกับสหกรณ์โดยทั่วไป เช่น

 1. สหกรณ์รูปแบบอิสลามห้ามเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยหรือ "ริบา" ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะอิสลามถือว่าดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น   2) สหกรณ์รูปแบบอิสลามห้ามเกี่ยวข้องกับธุรกิจต้องห้ามตามหลักศาสนา ได้แก่ การพนันหรืออบายมุข  สุรา 3) สหกรณ์อิสลามโดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในด้านการทำธุรกิจการค้า (ติญารี) ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญคือการค้าขาย (ขายบวกกำไร)  หรือการเป็นหุ้นส่วนกันทำธุรกิจหรือมุชารอกะห์ ให้เป็นไปตามหลักการอิสลามที่กำหนด 4) การทำสัญญาหรือการทำธุรกรรมในสหกรณ์รูปแบบอิสลามไม่ใช่เป็นสัญญาเงินกู้ แต่เป็นสัญญาซื้อขายในระบบสหกรณ์อิสลามที่ชัดเจนตายตัวตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงให้คำสัญญาระหว่างกันคือ ระหว่างสหกรณ์อิสลาม (ผู้ขาย) กับสมาชิกสหกรณ์ (ผู้ซื้อ) หากสมาชิกผิดสัญญาสหกรณ์อิสลามอาจจะนำหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายและนำเงินที่ขายมาหักหนี้ที่สมาชิกยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือจะคืนให้แก่สมาชิก   5) สหกรณ์รูปแบบอิสลามสามารถควบคุมระบบและป้องกันการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เพราะสหกรณ์รูปแบบอิสลามไม่ได้ให้เครดิตเป็นตัวเงินออกไปให้กับสมาชิก แต่จะให้เป็นสิ่งของตามที่ต้องการ

6) กำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบการของสหกรณ์รูปแบบอิสลามจะถูกนำไปจ่ายเป็น ซะกาตตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลาม เพื่อนำไปใช้สำหรับสงเคราะห์สังคมตามหลักเกณฑ์ที่ศาสนาอิสลามกำหนด เช่น คนยากจน คนขัดสน คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และสาธารณกุศลต่าง ๆ 





จากการเสวนาและรับฟังความคิดเห็นรวมถึงปัญหาและอุปสรรค จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของสหกรณ์อิสลาม มักประสบปัญหาการดำเนินงาน เนื่องจากไม่มีกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจนในการกำกับดูแลของภาครัฐ เพราะสหกรณ์อิสลามไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นสหกรณ์ประเภทเฉพาะ  อย่างไรก็ตามสันนิบาตสหกรณ์จะนำปัญหาข้อเสนอแนะทั้งหมดสรุปเพื่อหาแนวทางแก้ไขไม่ว่าจะเป็นไขกฎหมาย,ข้อบังคับเพื่อให้สอดคล้องตามรูปแบบเฉพาะของแต่ละสหกรณ์ซึ่งมีรูปแบบรวมถึงองค์ประกอบที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจและหลักการทางศาสนาและความเชื่อเช่นสหกรณ์อิสลาม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น