บอร์ดภาพยนตร์ปิดฉากงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2566 ไทยปลื้มแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม-ภาพยนตร์ กระชับความสัมพันธ์ประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๐๐ น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีประกาศรางวัลและพิธีปิดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๕๖๖ (Bangkok ASEAN Film Festival 2023) ครั้งที่ ๙ พร้อมทั้งมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) และมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดโครงการภาพยนตร์อาเซียน (SOUTHEAST ASIAN PROJECT PITCH : SEA PITCH) โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ คณะกรรมการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ นายธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นางสาวสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางสาวพิมพกา โตวิระ Programming Director ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยและต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน แขกผู้เกียรติ นักแสดง และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น ๘ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
งานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๙ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ โดยกิจกรรมพิธีปิดงานประกอบด้วย การแสดงชุดสานศิลป์อาเซียน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การประกาศผลและมอบรางวัลการประกวด ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นอาเซียน (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) ครั้งที่ ๔ ผู้ชนะการประกวด ได้แก่ ๑. BEST ASEAN SHORT FILM ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง Cross My Heart and Hope To Die กำกับโดย Sam Manacsa ประเทศฟิลิปปินส์ ๒. JURY PRIZE ได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล ๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ เรื่อง Once Upon A Time There Was A Mom กำกับโดย Lin Htet Aung จากประเทศเมียนมาร์ และ ๓. SPECIAL MENTION ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล ๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ เรื่อง Basri & Salma in a Never-ending Comedy กำกับโดย Khozy Rizal ประเทศอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกันมีการประกวดโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน (South East Asia Project Pitch หรือ SEAPITCH) ครั้งที่ ๔ ผู้ชนะการประกวด ได้แก่ ๑. รางวัล SEAPITCH Award ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล ๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ เรื่อง The Passport กำกับโดย Ananth Subramaniam, Producers: Choo Mun Bel ประเทศมาเลเซีย ๒. รางวัล Runner-Up Prize ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล ๓,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ เรื่อง A Ballad of Long Hair กำกับโดย Giovanni Rustanto, Producer: Annisa Adjam and Fran Borgia ประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ๓.รางวัล SPECIAL MENTION ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง The Silence and Stealth of a Hungry Cat กำกับโดย Arden Rod Condez, Producer: Stelle Laguda and Jo Andrew Torlao ประเทศฟิลิปปินส์ และ ๔. รางวัลพิเศษ White Light SEAPITCH Award โดยการสนับสนุนจาก White Light Studio ที่จะสนับสนุนการทำงานด้าน Color Grade และ DCP Master ให้กับผลงานภาพยนตร์ เรื่อง The Intruder (O Intruso) กำกับโดย Theo Rumansara, Producer: Axel Hadiningrat and Giovanni Rahmadeva ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งมีการฉายภาพยนตร์ปิดเทศกาล ได้แก่ Morrison (๒๐๒๓, ประเทศไทย และฝรั่งเศส) ผลงานการกำกับของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง
ทั้งนี้ ตลอดช่วง ๙ ปีที่ผ่านมา วธ.ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนฯ ได้นำเสนอคุณค่า ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อและอัตลักษณ์ของชาติอาเซียนผ่านสื่อภาพยนตร์ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนและสร้างภาพลักษณ์ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติอาเซียนในทวีปเอเชียและระดับนานาชาติ รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค
ไม่มีความคิดเห็น