ขบวนการสหกรณ์วอนภาครัฐเข้าใจ ใช้ระบบสหกรณ์แก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการครู
ภายหลังจากที่สันนิบาตสหกรณ์ฯและผู้แทนสหกรณ์ต้นแบบแก้ปัญหาหนี้ ข้าราชการครู ได้เข้าพบดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมระดมความคิดเห็นปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูที่รัฐบาลอยากแก้ไข : จะสำเร็จได้ด้วยระบบสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมรัชนีแจ่มจรัส ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานพิธีเปิด และนายปัณฐวิชร์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์กล่าวรายงาน โดยมีนายนพดล วรมานะกุล รองประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ, นายอุทัย ศรีเทพ ผู้ตรวจตรวจสอบกิจการสสท., นายจำเริญ พรหมมาศ เป็นผู้ตรวจสอบกิจการสสท. เข้าร่วมประชุม ทั้งแบบออนไซด์และออนไลน์ กว่า 600 คน โดยได้รับเกียรติจากดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการกพฐ.พร้อมด้วย ผู้แทนสถานีแจ้งหนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษาและผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ร่วมรับฟังผ่านระบบซูมมิตติ้ง
การจัดประชุม ระดมความคิดเห็นดังกล่าวจัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักงานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สหกรณ์ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้มีโอกาสพูดคุยและแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการใช้ระบบสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีความเข้าใจและใช้หลักการและวิธีการสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยถอดบทเรียนความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตัวอย่าง โดยภาครัฐมีเป้าหมายหลักที่ต้องการดังนี้ 1. ต้องการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ2. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำลง3. จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น4. ปรับลดการส่งรายเดือน5. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก ให้ความรู้เสริมสร้างใหม่และการวางแผนทางด้านการเงินเพื่อสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออมและไม่ก่อหนี้เพิ่ม
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการการสันนิบาตสหกรณ์กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สหกรณ์ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของสหกรณ์ในการแก้ปัญหาหนี้สินครู และมีหลายสหกรณ์ที่เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา มีการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างทั่วถึงและเป็นระบบทำให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับลดการซื้อประกันในส่วนที่ไม่จำเป็น การปรับลดยอดหนี้ หรือ ยุบยอดหนี้ ส่งผลให้มียอดเงินคงเหลือรายเดือนเพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีความสุขมากขึ้น โดยครั้งนี้ได้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ ให้เกียรติมาเข้าร่วมประชุมพร้อมแสดงวิสัยทัศน์แนวทางการแก้ปัญหา จำนวน 5 ท่าน 1. นายสุรศักดิ์ วาดเขียน ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระบุรี 2.นายพัฒนชัย วิเศษสมบัติ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูประจวบคีรีขันธ์ จำกัด 3. นายถาวร ปลอดชูแก้ว ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครศรีธรรมราชจำกัด 4. นายบุญธรรม เดชบุญ ที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาจำกัด 5.นายพินิจ พุทธพิทักษ์วงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแพร่จำกัด เพื่อให้สหกรณ์ได้ถอดบทเรียนจากสหกรณ์ต้นแบบ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูอย่างเป็นระบบ
สำหรับยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา ที่เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแพร่จำกัดได้นำร่องการแก้ไขปัญหามีดังนี้ 1. รวมหนี้ทั้งในสหกรณ์และนอกสหกรณ์ทั้งหมดมาไว้ที่เดียวในสหกรณ์ บริหารด้วยกระบวนการทางสหกรณ์ 2. มีการประกันหนี้ที่เกิดจากการรวมหนี้โดยใช้การประกันนี้และฌาปนกิจสงเคราะห์ประกันหนี้ทั้งหมด3. การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่แหล่งเงินให้ร้อยละ 2 มาบริหารจัดการที่ร้อยละ3 ไม่มีปันผลไม่มีเฉลี่ยคืน 4. มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากสมาชิก โดยการดำเนินการจัดระดมความคิดเห็นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2568 จะได้มีสรุปประเด็นเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล และประธานคณะทำงานแก้หนี้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ใน 5 ประเด็นหลัก 1. ปัญหาและอุปสรรคผลกระทบที่สหกรณ์ประสบ 2. แนวทางแก้ไขในมุมมองของสหกรณ์ออมทรัพย์ 3. ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น 4. ข้อเสนอแนะ และความต้องการของกระบวนการสหกรณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น