“ดีพร้อม” ขานรับนโยบาย “เอกนัฏ” สนับสนุน SOFT POWER ผ่านกิจกรรมพัฒนาบุคลากรสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย พลิกโฉมงานคราฟต์ ยกระดับแบรนด์ไทยให้เฉิดฉายสู่ตลาดโลก ดันเศรษฐกิจโตกว่า 100 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2568
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย พร้อมผลักดันให้ออกสู่ตลาดสากล พัฒนาองค์ความรู้และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่าน “กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรหัตถอุตสาหกรรมไทย”
ภายใต้โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Alliance)ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพบุคลากรในหัตถอุตสาหกรรมไทย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาแบรนด์สินค้า นวัตกรรมการผลิต และการตลาดให้สามารถดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาเชื่อมโยงพัฒนาแบรนด์ให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น และให้เป็นที่รู้จักสู่ตลาดโลก คาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในเมืองไทย ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงสำคัญ (Flagship Policy) ที่มีเป้าหมายผลักดันโครงการและแผนงานด้านต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทยและหนึ่งในนั้น คือ สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในด้านมูลค่า และการจ้างงาน โดยปี 2564 สามารถสร้างรายได้ราว 3.9 แสนล้านบาท การส่งออกสินค้าแฟชั่นมีมูลค่ากว่า
2.2 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานราว 8 แสนคน
อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย สาขาแฟชั่น ให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากล
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนิน “กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรหัตถอุตสาหกรรมไทย” ภายใต้โครงการพัฒนา และเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Alliance) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) และสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของชาติภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ตามนโยบาย 4 ให้ 1 ปฏิรูป ให้ทักษะใหม่
ให้เครื่องมือทันสมัย ให้โอกาสโตไกล ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน และปฏิรูปดีพร้อมสู่องค์กรที่ทันสมัยตามกลไกด้านการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยการ “สร้างสรรค์และต่อยอด” ให้เกิดเสน่ห์ คุณค่า และเพิ่มมูลค่า “โน้มน้าว” ให้เกิดการยอมรับ เปิดใจ และต้องการ “เผยแพร่” ให้เป็นที่รู้จัก
โดยกิจกรรมดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย ครอบคลุมสาขางานผ้าพื้นเมือง งานปัก เครื่องหนัง เซรามิก เครื่องจักสาน และอื่น ๆ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบร่วมสมัย จำนวน 100 คน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศ และระดับสากล พร้อมทั้งสร้างเรื่องราวแบรนด์ (Storytelling) และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ไทย ผ่านการฝึกอบรมเชิงลึกทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การศึกษาดูงาน และการใช้กลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร นำไปสู่การเพิ่มยอดขายสินค้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นการต่อยอดงานหัตถอุตสาหกรรม ร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สร้างให้โอกาสโตไกล และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก THAI Craft to the WORLD อย่างยั่งยืน
ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ เสวนาหัวข้อ “ปั้นแบรนด์หัตถกรรมไทย ให้เฉิดฉายบนเวทีโลก” โดย คุณรัฐ เปลี่ยนสุข เจ้าของแบรนด์ SUMPHAT GALLERY (นักออกแบบไทยที่นำพางานหัตถกรรมไทยสู่แบรนด์ระดับโลก) คุณอิสระ ชูภักดี เจ้าของแบรนด์ KORKOK (จากผู้ผลิตงานจักสานเสื่อกก สู่ผู้ขับเคลื่อน จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ UNESCO) และ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น)
สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มแฟชั่น และอื่น ๆ ในสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย ที่มีความสนใจโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6883 และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เว็บไซต์ www.diprom.go.th และ www.facebook.com/dipromindustry
ไม่มีความคิดเห็น