Breaking News

วธ.ร่วมประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565 หนุนวงการภาพยนตร์ไทยขับเคลื่อนประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แข่งขันกับต่างประเทศ สร้างความภาคภูมิใจ และขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ไทย สู่ระดับสากล


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565 


โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายนคร วีระประวัติ ประธานชมรมวิจารณ์บันเทิง ผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ ศิลปิน นักแสดง บุคลากรด้านภาพยนตร์ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ  


ในโอกาสนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมร่วมประกาศผลและมอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Blue Again และนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมประกาศผลและมอบรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ นายจักรวาล นิลธำรงค์ จากภาพยนตร์เรื่อง เวลา Anatomy of Time


นายอิทธิพล กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศสู่ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก  โดยเฉพาะภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ให้การสนับสนุนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ ศิลปินและธุรกิจต่างๆ สร้างงาน สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ประจำปี 2565  ครั้งที่ 31 ของชมรมวิจารณ์บันเทิงครั้งนี้ วธ. ได้มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด้านต่าง ๆ ของวงการภาพยนตร์ไทยและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความตั้งใจและการทำงานของผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดง ผู้เขียนบท ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อีกทั้งได้รับเชิญนำภาพยนตร์ไปฉายในงานเทศกาลสำคัญต่อไป 



นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565  ของชมรมวิจารณ์บันเทิง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์ไทยทุกท่าน และกระทรวงวัฒนธรรมยินดีให้การสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทย ในฐานะอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศไทย ในการเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันกับต่างประเทศ สร้างความภาคภูมิใจ และขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ไทย สู่ระดับสากล ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในงานครั้งนี้ มีการประกาศรางวัลสำคัญต่าง ๆ อาทิ รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ (Lifetime Achievement Awards) ประจำปี 2565 ได้แก่ นาท ภูวนัย และอรัญญา นามวงษ์  ตำนาน "นักแสดงภาพยนตร์ไทย" ผู้คร่ำหวอดในวงการมามากกว่า 50 ปี รางวัลภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง บูชา รางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง แสงมัวบอด (Blineded by the light) รางวัลภาพยนตร์สั้นระดับนักเรียน-นักศึกษา (รางวัลปัณณวิชญ์) ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง คะนึงถึงทุกครา (Us,Being and Time) รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับบุคคลทั่วไป ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง The Border Town นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ จากภาพยนตร์เรื่อง One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ เขมนิจ จามิกรณ์ จากภาพยนตร์เรื่อง six characters มายาพิศวง






ทั้งนี้ รางวัลภาพยนตร์ไทย โดยชมรมวิจารณ์บันเทิง (Bangkok Critics Assembly) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ของไทย ที่มีผลงานดีเด่นที่สุดในสาขาต่าง ๆ ในแต่ละปี โดยได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2534 โดยชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งประกอบด้วยนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มีประธานชมรมคนปัจจุบัน คือ นายนคร วีระประวัติ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น