Breaking News

8 ประเทศอาเซียน ร่วมเปิดค่ายเยาวชนศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ “Art for All” ชูแนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” ใช้ศิลปะเป็นตัวกลางก้าวข้ามขีดจำกัดสู่สังคมสร้างสรรค์ พัฒนาเยาวชนพิการและผู้ด้อยโอกาส พร้อมถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระดับนานาชาติ 14-16 ก.ค. นี้

 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art For All) นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ผู้แทนจากสมาชิกอาเซียน เยาวชนพิการและไม่พิการ ครูอาจารย์ที่สอนศิลปะ ผู้ปกครอง อาสาสมัคร วิทยากรและผู้ช่วย คณะทำงาน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม  



ภายในงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จำนวน 4 ท่าน ประกอบด้วย 1.นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย2.นายพีรดนย์ ทองแท้ Manager-Scholarship and Potential Enhance มูลนิธิเอสซีจี 3.นางวราพร พาทยกุล ผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์  4.ดร.ศุภรางค์ หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศศิภา และได้รับชมการแสดงชุด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ : หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน(ArtforAll:Diversity,Creativity,Sustainability)โดยนักแสดงจากโรงเรียนปัญญาวุฒิกร สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิและโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์




ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า โครงการ Art for All หรือ “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์” ได้ริเริ่มและดำเนินการโดยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และได้เปิดตัวสู่สังคมนานาชาติด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ภายใต้แนวคิดในการนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางสุนทรียะแล้ว ศิลปะยังเป็นสิ่งหล่อหลอมจิตใจ รวมทั้งเป็นเวทีในการแสดงออก แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและสร้างเจตคติที่ดีระหว่างกันเพื่อนำสู่สังที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน สอดรับกับวิสัยทัศน์ (ASEAN Vision 2025) ในการทำให้อาเซียนเป็นชุมชนของสังคมแห่งความเอื้ออาทร โดยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และแสวงหาการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของทุกภาคส่วนในสังคม นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2025 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง 




ปลัด.วธ. กล่าวอีกว่า มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ จึงได้กำหนดการจัดโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” (Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability) ในแบบกายภาพแบบเต็มรูปแบบ เพื่อสานต่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนพิการและด้อยโอกาสให้มีความต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 300 คน ประกอบด้วย เยาวชนพิการและไม่พิการ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร ครูอาจารย์ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ผู้ปกครอง อาสาสมัคร วิทยากรและผู้ช่วย คณะทำงาน แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจากประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในปีนี้มีศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 8 ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ และไทย กิจกรรมประกอบด้วย การจัดการเรียนการสอนศิลปะ ทั้งด้านทัศนศิลป์ นาฏยศิลป์ ศิลปะประดิษฐ์ และดนตรี เป็นต้น รวมถึงการประชุมทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการสอนศิลปะสำหรับผู้พิการ การอบรมอาสาสมัครในการดูแลช่วยเหลือผู้พิการ และการประกวดวาดภาพ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2566 โดยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 จัดขึ้น ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และระหว่างวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2566 จัดขึ้น ณ Art for All Village ถนนประชาร่วมใจ 31 เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร 



ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมภายใต้โครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมทั้งผู้พิการและไม่พิการ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการอยู่ร่วมกันระหว่างกัน ผ่านศิลปะในฐานะสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน รวมถึงการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนด้านศิลปะในระดับนานาชาติกับทั้ง 8 ประเทศ ในอาเซียนนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนผู้พิการในภูมิภาคอาเซียนมีประสิทธิภาพ มีเทคนิคและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาความสามารถและศักยภาพได้อย่างเต็มที่




ไม่มีความคิดเห็น