เริ่มแล้ว สานพลัง 7 ภาคี ร่วมสร้างขอนแก่นจังหวัดเข้มแข็ง สนับสนุนการบูรณาการสู่ความร่วมมือ นำร่องพัฒนาจังหวัดขอนแก่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนสุขภาวะระดับพื้นที่ บูรณาการข้อมูล แก้ปัญหาสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้นแบบ “สาวะถีโมเดล” ชูชุมชนจัดการตนเอง สร้างนวัตกรรมจากฐานทุนท้องถิ่น
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทยอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก โดยข้อมูลอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ข้อมูลปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน เกิดจากอุบัติเหตุและโรคไม่ติดต่อ NCDs จึงเกิดการสร้างเสริมสุขภาพสานพลังระดับพื้นที่ มีเป้าหมายหลักของแผนงานสร้างจังหวัดเข้มแข็ง เพื่อลดช่องว่างทางสังคม และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อทำให้ประชากรมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลัก 1. พฤติกรรมสุขภาพ 2. สิ่งแวดล้อม 3. ชุมชนเข้มแข็ง 4. ระบบบริการสุขภาพ 5. นโยบายสาธารณะดี ทั้ง 7 หน่วยงานบูรณาการข้อมูลทำความร่วมมือในรูปแบบ “ภาคีอาสา” สร้างจังหวัดเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสให้ประชาชนในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ
“การทำงานของภาคีอาสาของ จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับจังหวัด จัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญของจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยแผนขับเคลื่อนปี 2568 ของ ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) เริ่มต้นใน 5 จังหวัดเข้มแข็ง ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น ตราด และพัทลุง และในปี 2569 ขยายผลครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจนทั้งการลดอัตราการป่วย การเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้นำข้อมูลประชากร ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อายุคาดเฉลี่ย และระบบฐานข้อมูลภาคีอาสา เพื่อสร้างข้อตกลงแผนงานยุทธศาสตร์การทำงานระดับจังหวัด” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นและคณะทำงานภาคีอาสาจังหวัดขอนแก่น (ภสพ.จังหวัดขอนแก่น) กล่าวว่า จ.ขอนแก่น มีความท้าทายในการพัฒนาอยู่หลายมิติ เช่น ปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา การสร้างพื้นที่เรียนรู้ สังคม สิ่งแวดล้อม การจัดการอาหารปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภค จึงต้องมีการกำหนดประเด็นที่ครอบคลุมกับปัญหาในพื้นที่ โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละด้าน เพื่อพัฒนากลไกให้ครอบคลุม รวมถึงการกำหนดแผนปฏิบัติการระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาว สำหรับพื้นที่บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีต้นทุนทางชุมชน เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง และอาหารปลอดภัย และให้ความสำคัญในการใช้ข้อมูลเพื่อกำหนดการพัฒนา มีประสบการณ์ในการทำข้อมูลตำบล โดยใช้โปรแกรม Thailand Community Networking Appraisal Program-TCNAP (TCNAP) ที่นำมาใช้ดำเนินงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ชุมชน สะท้อนความพยายามของชุมชนในการจัดการและแก้ปัญหาของพื้นที่ ส่งผลให้เกิดเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
“เทศบาลตำบลสาวะถี พัฒนาตำบลสุขภาวะผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในชุมชน การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กออทิสติก และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของครอบครัว การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน โดยใช้กลไกกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางสังคม การพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อศิลปวัฒนธรรม เช่น ห้องเรียนมัคคุเทศก์น้อย ปลูกฝังคุณค่าและสร้างสุขภาวะในโรงเรียน การจัดการอาหารปลอดภัยในระดับชุมชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชผักปลอดสาร การมีแปลงเกษตรตัวอย่าง และการมีส่วนร่วมของครัวเรือน ส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเยาวชนผ่านบทบาทมัคคุเทศก์น้อย ช่วยอนุรักษ์และถ่ายทอดเรื่องราวจากจิตรกรรมฝาผนังวัด ร่วมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน” ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าว
นางปรียา สมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เทศบาลตำบลสาวะถี มีจำนวนประชากร ทั้งหมด 18,125 คน เพศชาย 8,989 คน เพศหญิง 9,136 คน จำนวนครัวเรือน 5,213 ครัวเรือน 24 หมู่บ้าน ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ในปี 2555 และได้พัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์จัดการเครือข่าย ในปี 2557 เพื่อขับเคลื่อนงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้าน เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ จากข้อมูลการวิเคราะห์งานพัฒนาของพื้นที่ตำบลสาวะถี พบว่า มีการดำเนินงานหลากหลายระดับ สะท้อนความพยายามของชุมชนในการจัดการและแก้ปัญหาด้วยตนเองในชุมชน
“เทศบาลตำบลสาวะถี ส่งเสริมให้ทุกชุมชนมีแนวคิดในการบริหารจัดการขยะด้วยตนเอง โดยเน้นการจัดการขยะจากต้นทาง ภายใต้โครงการ “หมู่บ้านบริหารจัดการขยะ เพื่อสุขภาวะที่ดี” คัดแยกขยะสะสมเงินทองคุ้มครองสุขภาพ (ฌาปนกิจขยะ) สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะในชุมชน เกิดถนนสายบุญปลอดขยะ รวมทั้งปัญหาฝุ่นละออง ที่เกิดจากการเผาอ้อย ขนส่งอ้อย และมีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่ตำบลด้วยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามที่นา พื้นที่ว่างเปล่าและที่สาธารณประโยชน์ เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน และส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวงดเผาพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการส่งเสริมวิธีการไถกลบตอซัง และการตัดอ้อยโดยไม่เผา สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ กลุ่มศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และต่อยอดกลุ่มอาชีพพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและความหลากหลาย พัฒนาเป็นนวัตกรรมในตำบลได้ เช่น กลุ่มย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ”นางปรียา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น