Breaking News

กองทัพเรือจัดการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2567

 วันนี้ ( 25 มกราคม 2567 ) เวลา 14.00 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2567 โดยมี คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องสุพรรณหงส์ อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร



ตามที่สำนักพระราชวัง มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ในการนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการบรรจุไว้ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


        สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อเป็นการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานจัดเตรียมความพร้อมของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคประจำปี 2567 รวมถึงเป็นไปตามแผนงานที่ได้มีการกำหนดไว้ โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ 

ได้มีคำสั่งกองทัพเรือ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 

28 กรกฎาคม 2567 โดยมี พลเรือโท วิจิตร  ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ในการวางแผนอำนวยการกำกับการ และดำเนินการเตรียมการ จัดขบวนเรือพระราชพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย สำหรับรูปแบบ

การจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำจัดขบวนเป็น 5 ริ้วความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 2,200 นาย



ในส่วนของแผนปฏิบัติงานการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในส่วนของกองทัพเรือ ได้แบ่งการเตรียมความพร้อมออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1.  การเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและการฝึกซ้อมฝีพาย จะเริ่มมีการจัดกำลังพลประจำเรือตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา โดยจะจัดให้มีการฝึกครูฝึกฝีพาย ในระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2567 จากนั้นจะจัดให้มีการฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 16 พฤษภาคม 2567 และการฝึกฝีพายในหน่วย ในเรือ ในน้ำ ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 30 กรกฎาคม 2567

2.  การซ่อมทำเรือพระราชพิธีและการเตรียมท่าเทียบเรือ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการสำรวจและซ่อมทำเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์ เพื่อส่งให้กรมศิลปากรตกแต่งตัวเรือ พร้อมทั้งซ่อมทำเรือดั้งเรือแซงให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 เมษายน 2567 รวมทั้งหมดซ่อมทำโป๊ะเรือ ท่าเทียบเรือ ปักเสาผูกเรือพระราชพิธีและวางทุ่นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

3.  การแต่งบทเห่เรือจำนวน 4 บท โดย พลเรือตรี ทองย้อย  แสงสินชัย ประกอบด้วย บทเห่เรือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจำนวน 1 บท และบทเห่เรือพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินจำนวน 3 บทเพื่อใช้ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาและงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

4.  การฝึกซ้อมขบวนเรือในแม่น้ำประกอบด้วยการซ้อมย่อย 10 ครั้ง การซ้อมใหญ่ 2 ครั้งและซ้อมเพื่อเก็บความเรียบร้อยอีก 1 ครั้ง

5.  งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ใน 27 ตุลาคม 2567

6.  การสำรวจ จัดเก็บเรือ และสรุปผลการปฏิบัติ

ทั้งนี้การเตรียมการต่าง ๆ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้เน้นย้ำคณะกรรมการในส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมให้ดำเนินการในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การจัดขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างามและสมพระเกียรติ รวมถึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงการฝึกซ้อม ทั้งการซ้อมย่อย การซ้อมใหญ่ และงานพระราชพิธีในวันจริง ซึ่งกำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นอันดับแรก คือการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธีซึ่งจะมีการเปิดการฝึก

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี

กองประชาสัมพันธ์สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ


ไม่มีความคิดเห็น