Breaking News

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเปิดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี ๒๕๖๗

 

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๓๐ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี ๒๕๖๗ โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม  วัฒนธรรมจังหวัด ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในตำบลกุดหว้า เข้าร่วม ณ เวทีกลางวัดกกต้องกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์



โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเข้าสักการะหลวงพ่อองค์แสน ชมนิทรรศการวิวัฒนาการบั้งไฟตะไลล้าน มอบรางวัลชนะเลิศขบวนแห่บั้งไฟสวยงามและมอบเกียรติบัตรซุ้มบั้งไฟตะไลล้าน ๔ ซุ้มและรับมอบป้ายสนับสนุนการจัดงาน ๑๔ องค์กร หลังจากนั้น ได้ชมการแสดงแสง สี เสียง ชุด “มากินแกงเข้าโล้ง ซูดน้ำซว้าไก่ ฮีตฮอตผู้ไท ตะไลใหญ่บ้านคำหว้า” และการแสดงศิลปวัฒนธรรมภูไท


ทั้งนี้ งานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี ๒๕๖๗ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสืบสานเทศกาลงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบั้งไฟตะไลล้านให้ได้รับการยกระดับสู่ Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดกาฬสินธุ์และประเทศ ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ โดยจัดงานระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีกิจกรรมประกอบด้วย การฟ้อนผู้ไท เป่าปี่ผู้ไท เสื้อเย็บมือ ดีดพิณ ลำผู้ไท การประกวดขบวนแห่วิถีวัฒนธรรมผู้ไทบั้งไฟตะไลล้าน การแสดงแสง สี เสียง ชุด “มากินแกงเข้าโล้ง ซูดน้ำซว้าไก่  ฮีตฮอยผู้ไท ตะไลใหญ่บ้านคำหว้า” โดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และชาวชุมชนกุดหว้า การแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินนักร้อง การแสดงศิลปวัฒนธรรมภูไทโดยสถานศึกษาและสมาคมหมอลำจังหวัดกาฬสินธุ์ นิทรรศการและการเสวนาวิวัฒนาการบั้งไฟตะไลล้าน รวมทั้งนิทรรศการ การสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นถิ่นและผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวผู้ไท 

สำหรับชุมชนผู้ไทบ้านกุดหว้า เป็นชุมชนที่อพยพมาจากบ้านนากะแตบ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองบกกับเมืองวังในประเทศลาว มาอยู่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ชุมชนแห่งนี้ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องมากว่า ๑๖๖ ปี มีประเพณีสำคัญที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ คือ ประเพณีความเชื่อการบูชาพญาแถน เพื่อขอฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์และได้ประกอบพิธีจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถนต่อเนื่องมาทุกปี โดยกำหนดจัดกิจกรรมในสัปดาห์ที่ ๓ เดือนพฤษภาคมของทุกปี ก่อนฤดูทำนา ทำสวน 

ต่อมาได้ทำบั้งไฟตะไลที่สืบทอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษและพัฒนาจากการทำตะไลร้อยเป็นตะไลหมื่น ตะไลแสน โดยมีการจุดบั้งไฟตะไลแสนครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ หลังจากนั้นได้พัฒนาเป็นบั้งไฟตะไลล้าน ตะไลสิบล้านและตะไลยี่สิบล้านสามารถทะยานขึ้นท้องฟ้าอย่างสวยงาม 

ไม่มีความคิดเห็น