สทท. ขานรับเป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาท เสนอ 3 ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้าสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 77 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก โดยดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 นี้ อยู่ที่ระดับ 82 คาดว่าไตรมาสนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นดีกว่าไตรมาส 4/2566 เล็กน้อยและดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการณ์คาดว่าการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2567 จะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาในทุกภูมิภาค โดยภาคเหนือมีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากที่สุด และภาคกลางมีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยที่สุด ธุรกิจสปา/นวดแผนไทยสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าที่สุด ส่วนธุรกิจแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น มีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยที่สุด
ธุรกิจที่พักแรมมีรายได้ ประมาณร้อยละ 63 และมีการจ้างงานแล้วร้อยละ 88 เทียบกับปี 2562 อัตราการเข้าพักในไตรมาส 4/2566 เฉลี่ยทั่วประเทศร้อยละ 62 โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราการเข้าพักสูงที่สุดที่ร้อยละ 68 โดยโรงแรมขนาดใหญ่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 76 มากกว่าขนาดกลางและเล็ก ธุรกิจสปา/นวดแผนไทยร้อยละ 40 มีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรและต้องการให้ภาครัฐช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยในไตรมาส 4/2566 ประมาณ 4,293 บาท/คน/ทริป ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2566 ( 4,285 บาท/คน/ทริป)
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า “เป้าหมายท้าทาย รายได้รวมจากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วางไว้ถือเป็นเรื่องดีมาก ถือแม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ทำได้ยากมากในปีนี้ แต่ก็ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการธนาคาร เร่งสร้างนโยบายและโครงการเพื่อมาสนับสนุนให้เกิดรายได้ตามเป้าหมายดังกล่าว หากเราทำได้สำเร็จก็จะดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งประเทศ และมีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับสองของโลกในด้ายรายได้ สทท. มองว่าในด้าน Demand ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะทำได้ แต่ด้าน Supply ยังมีความท้าทายหลายด้านที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน” นายชำนาญกล่าวเสริมว่า “หากต้องการรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท จะต้องมาจาก 2 ส่วน คือ ต่างชาติเที่ยวไทย สทท.คาดว่า รายได้จะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 2.24-2.30 ล้านล้านบาท จะต้องมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน x 56,000-57,5000 บาท และไทยเที่ยวไทยอีก 1.20-1.26 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2562 เราเคยมีรายได้ไทยเที่ยวไทยที่ 1.08 ล้านล้านบาท มาแล้ว หากใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเราจะสามารถทำตามเป้าหมายได้”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สทท. จึงขอเสนอยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์มุ่งเป้า เราจะต้องกำหนดการเชื่อมโยง Demand- Supply ใน 3 มิติ who / where / what นักท่องเที่ยวเป็นใครชาติใด วัยใด สนใจเรื่องอะไร / ไปเที่ยวจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดใด / นักท่องเที่ยวเที่ยวรูปแบบใดและทำกิจกรรมอะไร
2. ยุทธศาสตร์คลังสมองท่องเที่ยวไทย เราจำเป็นต้องมี Tourism Think Tank เริ่มจาก 100 คน โดยคัดทั้งที่ผู้มีประสบการณ์ จากทุกสาขาอาชีพ จากพื้นที่ 5 ภาค จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว และจากนักวิชาการ มาช่วยกันเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม อีกทั้งยังสามารถเป็นผู้ช่วยพัฒนานโยบายและโครงการเพื่อนำเสนอต่อท่านรัฐมนตรีและรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ยุทธศาสตร์ Tourism Clinic เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ Supply Side ปัญหาหลักของผู้ประกอบการมี 4 ด้าน คือ การเงิน บุคลากร การตลาด และนวัตกรรม Tourism Clinic จะเป็นเสมือนคุณหมอคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อให้กลับมาแข็งแรงและเก่งกว่าเดิม
นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สทท. กล่าวเสริมว่า นโยบาย 4 เติม เติมทุน เติมลูกค้า เติมความรู้ เติมนวัตกรรม ที่ สทท. ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปีที่แล้วได้ผลดีมาก จำเป็นต้องขยายผล ในเชิงนโยบายด้านต่างชาติเที่ยวไทย นโยบายด้านวีซาของแต่ละพื้นที่ได้ผลชัดเจน ทั้ง จีน ไต้หวัน คาซัคสถานและ อินเดีย เราควรเพิ่มประเทศใหม่แ ละเพิ่มวีซาตามความสนใจหรือกิจกรรม เช่น วีซามวยไทย 6-12 เดือน / วีซา Digital Nomad / วีซาอาหารไทย เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นทูตวัฒนธรรม ต่อยอดด้าน Softpower ของไทยต่อไป
ด้านการเพิ่มรายได้จากไทยเที่ยวไทย สทท. ได้เตรียมเสนอ 3 โครงการ คือ 1. โครงการบัสทัวร์ทั่วไทยที่ประสบความสำเร็จมากในปีที่แล้ว ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวยากและต้นทุนในการเดินทางสูง 2. โครงการเที่ยวช่วยชาติ โดยสนับสนุนให้ข้าราชการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาและได้ KPI 3. โครงการสนับสนุนการเดินทางข้ามภาคของอบต./อบจ.
ไม่มีความคิดเห็น