Breaking News

รัฐบาลปลื้มพลังศรัทธาพุทธศาสนิกชนสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กว่า 1 ล้านคน “เสริมศักดิ์”ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือ พร้อมให้ทุกหน่วยงานวธ.สนับสนุนอัญเชิญไปเชียงใหม่ อุบลราชธานีและกระบี่ กำชับสวธ.เร่งรวบรวมข้อมูลชุดไทยพระราชนิยมเสนอยูเนสโก มอบกรมศิลปากรส่งเสริมด้านซ่อมแซมคัมภีร์โบราณ ผลักดันไทยเป็นแหล่งเชี่ยวชาญของโลก

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้ได้เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ครั้งที่ 2/2567 ที่วธ.โดยได้แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายและข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับวธ.  ซึ่งในเรื่องของงานพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 19 มีนาคม 2567  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้สักการบูชา โดยส่วนกลางอัญเชิญประดิษฐานบนมณฑป ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพ  ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567  ซึ่งกรมการศาสนารายงานต่อที่ประชุมถึงจำนวนผู้เข้าสักการบูชาทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน และมีเสียงชื่นชมเป็นจำนวนมากจากหลายฝ่ายมายังนายกรัฐมนตรีและตน   หลังจากนั้นวธ.ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาค ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2567  มียอดผู้เข้าสักการบูชาทั้งหมดกว่า 250,000 คน  ล่าสุดอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี  ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2567 และจะอัญเชิญไปวัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 15 - 18 มีนาคม 2567 




“การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯมาประเทศไทยเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้มาสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและมงคลสูงสุดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอขอบคุณทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน รวมทั้งทุกหน่วยงานของวธ.ที่ร่วมกันดำเนินการ ขอให้ทุกหน่วยงานของวธ.ช่วยกันดูแลและสนับสนุนการอัญเชิญไปยังเชียงใหม่  อุบลราชธานีและกระบี่ให้ประสบความสำเร็จ  เป้าหมายของรัฐบาลโดยวธ.มุ่งส่งเสริมให้เป็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และน้อมนำคำสอนของพระพุทธศาสนามาสร้างความรัก ความสามัคคี  ก่อให้เกิดสันติสุขและสันติภาพในภูมิภาคนี้ จะหารือแนวทางขับเคลื่อนกับนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายเสริมศักดิ์ กล่าว 



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้กำชับให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)เร่งรวบรวมข้อมูลเรื่องของชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)ให้ทันภายในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ ได้แจ้งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว“เที่ยวใต้สุดใจ” ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เมื่อวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีของดีซ่อนอยู่มากมายและมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและประเพณีเป็นจุดขายสำคัญ และความสงบสุขของภาคใต้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเศรษฐกิจที่ดีพร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานที่จังหวัดนราธิวาส  


“นายกรัฐมนตรีประทับใจมากในการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯและสนใจเรื่องการซ่อมแซมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ  ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก จึงมอบหมายวธ.โดยกรมศิลปากรให้ส่งเสริมด้านการซ่อมแซมคัมภีร์โบราณ  รวมถึงให้วธ.สนับสนุนพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาอิสลามของประเทศไทยและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมแซมคัมภีร์โบราณของโลกและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก” นายเสริมศักดิ์ กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น