Breaking News

ครม.ไฟเขียว ไทยเสนอ “เชียงใหม่” เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ปี 68” วธ. พร้อมให้ความร่วมมือ ต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ครม. อนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี พ.ศ. 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีนานาชาติสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 และปฏิญญา Mondiacult 2022 ทั้งนี้ เมืองสมาชิกที่ประสงค์จะเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม จะต้องจัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนด และเสนอไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566  โดยจะมีกระบวนการคัดเลือกจากการพิจารณาเอกสาร การนำเสนอ การลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ และประกาศผลเมืองที่ได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนตุลาคม 2566 




รมว.วธ. กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะเป็นสถานที่การจัดประชุม รวมถึงปัจจุบันเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative CitiesNetwork-UCCN) สาขาหัตถกรรมและศิลปพื้นบ้าน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ.เชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) รวมถึงคณะทำงาน ในการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีข้อสรุปว่าจะจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17 ภายใต้แนวคิด "Enhancing Multicultural Transformation" เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอด ซึ่งคาดหวังที่จะเป็นเจ้าภาพ จัดกิจกรรมเชื่อมโยงและแบ่งปันแรงบันดาลใจ (Sharing) อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ และการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความสร้างสรรค์ที่ไม่มีสิ้นสุด นำไปสู่การสร้างความสุขด้วยแนวคิดเมืองมีชีวิต เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals: SDGs)




นายอิทธิพล กล่าวเพิ่มว่า กำหนดการจัดการประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 17 ของจังหวัดเชียงใหม่ มีระยะเวลา 7 วัน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การประชุมโดยผู้บริหารเมือง การประชุมกลุ่มย่อยในสาขาสร้างสรรค์ 7 สาขา (หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ วิทยาการอาหาร วรรณกรรม มีเดีย อาร์ต และดนตรี) และทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมเมืองและสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของเชียงใหม่ ผ่านเส้นทางวัฒนธรรมและเส้นทางการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยในภาพรวม ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการร่วมกันของเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในประเทศไทยทั้ง 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต (สาขาวิทยาการอาหาร)กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และเพชรบุรี (สาขาวิทยาการอาหาร) รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก อาทิ น่าน สุพรรณบุรี นครปฐม เชียงราย และพัทยา ซึ่งจะได้นำเสนอองค์ความรู้ผ่านตัวอย่างกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของเมืองต่อเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกต่อไป


นายอิทธิพล กล่าวปิดท้ายว่า วธ. พร้อมให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อให้การจัดประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์  ให้มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อการอนุรักษ์ ดำรง คงอยู่ ตลอดจนต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก ผ่านการนำเสนอเมืองเชียงใหม่ในมิติด้านศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม  และกิจกรรมเส้นทางวัฒนธรรม (authentic multicultural route) การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่นำทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (multicultural transformation tour) เพื่อนำเสนอธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาคชุมชน และภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวและใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างสินค้าและบริการที่ตอบรับกับกระแสของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น