สสส. สานพลัง ม.มหิดล พัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยง 13 เขตบริการสุขภาพ ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะโดยการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดทีมเรียนรู้ต้นแบบ 52 ทีม 524 คนทั่วประเทศ สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในระดับบุคคล-ชุมชนท้องถิ่น เกิดสุขภาพองค์รวมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ ติดตามผลการดำเนินงาน และถอดบทเรียน ครั้งที่ 2 ของ โครงการเพิ่มสมรรถนะการจัดการสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติท่ามกลางความเป็นจริง Participatory interactive learning through action (PILA)
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล พัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยง/วิทยากร 65 คน จาก 13 เขตบริการสุขภาพ เกิดทีมเรียนรู้ต้นแบบ 52 ทีม จำนวน 524 คนทั่วประเทศ มีเป้าหมายหนุนเสริมและพัฒนากลไกทางวิชาการของทีมสหวิชาชีพ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิในพื้นที่จริง PILA เป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่ตนเอง ส่งเสริมให้เครือข่ายเข้มแข็ง เพิ่มสมรรถนะ ทักษะการทำงานร่วมกันของทีมบุคลากรสุขภาพ ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสุขภาพ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตามปัญหา และการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมสุขภาพในอำเภอ ชุมชนและท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างทีมหมอครอบครัว ทีมสุขภาพอำเภอ ประชาชน ชุมชน ร่วมกันถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานจริง เผยแพร่องค์ความรู้การดูแลประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในระดับบุคคล และชุมชน เกิดสุขภาพองค์รวมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
รศ.ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ ผู้แทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล กล่าวว่า การบริหารจัดการระบบสุขภาพโดยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง เป็นการพัฒนาสมรรถนะของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว บุคลากรสุขภาพในระบบปฐมภูมิที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานด้านสาธารณสุขให้สามารถบริหารจัดการระบบสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มทักษะสามารถ นำเทคนิคประสบการณ์ ไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานร่วมกับทีมเรียนรู้ Learning Team (LT) กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการดำเนินงานด้านการจัดทำการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ได้จริง เกิดทักษะการเรียนรู้ในทีมงาน เกิดการตั้งคำถาม หาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนทบทวนและนำบทเรียนที่ได้ลงไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนี้จะขยายการดำเนินงานไปเครือข่ายหน่วยสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้ พัฒนาและปรับปรุงระบบสุขภาพ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อความยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น