Breaking News

สวธ. จับมือ GISTDA ลงนาม MOU ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA ทำ MOU การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีลงนามระหว่าง นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับ นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร สวธ. และ สทอภ. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ อาคารสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม




นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีกล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับ GISTDA ในครั้งนี้ เป็นการนำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมของประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก มาบริหารจัดการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในหลายมิติ ทั้งมิติการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอันเป็นเหตุปัจจัยให้มรดกภูมิปัญญาฯ มีความเสี่ยงใกล้สูญหาย หรือยังคงปฏิบัติอยู่อย่างแพร่หลาย และมิติของพื้นที่ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม พื้นที่ปฏิบัติของมรดกภูมิปัญญาณฯ รวมถึงมิติของความยั่งยืนบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น การใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ มาเป็นฐานข้อมูลในการออกแบบ หรือ วางแผนพัฒนา ฟื้นฟู สืบสาน รักษาและต่อยอดต่อไป ตลอดจนร่วมกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมผ่านฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักให้ชุมชน และทุกภาคส่วนได้เห็นคุณค่า สามารถดำเนินงานร่วมกัน และมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสาน พัฒนา ต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มเป็น soft power เป็นพลังที่สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นและประเทศ ต่อไป



ด้าน นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สทอภ. หรือ GISTDA ฉบับนี้ ด้วยสวธ.มีภารกิจในการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ต่อยอด รวมถึงถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยที่ผ่านมามีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และในปีงบประมาณที่ผ่านมา สวธ.ได้ริเริ่มดำเนินการรวบรวมและจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลเชิงพื้นที่มีจำนวนมากและกระจัดกระจายให้เป็นระบบ สามารถมองเห็นมิติของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ่านข้อมูลแผนที่ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น โดยเป็นการประยุกต์ใช้ศาสตร์สารสนเทศที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจ การทำแผนที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน

“ในขอบเขตความร่วมมือที่จะมีขึ้นตาม MOU นี้ สวธ.จะดำเนินการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ เช่น ข้อมูลสารัตถะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รวบรวมไว้ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สวธ. และสามารถเผยแพร่ได้ให้แก่ สทอภ. ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่เห็นชอบร่วมกัน  ส่วน สทอภ. หรือ GISTDA จะสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่อยู่ในคลัง (Archive) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจให้แก่ สวธ. ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้กลไกบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพ  และจะร่วมกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมผ่านฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อแสดงลักษณะของพื้นที่ที่มีมรดกภูมิปัญญาฯ ของแต่ละชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนและภาคส่วนสามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่มรดกฯ ของพื้นที่จะสูญหาย ให้พร้อมเป็นฐานข้อมูลสามารถนำไปออกแบบ พัฒนา ฟื้นฟู สืบสาน และต่อยอดต่อไป” นางสาวลิปิการ์ เผย

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (แผนที่ฐานภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต) เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ตำแหน่งของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ แสดงผลผ่าน Web Application ทั้ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ 

(1) วรรณกรรมพื้นบ้าน และภาษา (2) ศิลปะการแสดง (3) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล (4) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (5) งานช่างฝีมือดั้งเดิม (6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทั้งสองฝ่ายที่จะได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

รองผอ.สทอภ. กล่าวต่อว่า ภายใต้กรอบ  MOU ครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของบุคลากรด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์และสามารถต่อยอดขยายผลต่อไป อาทิ (1) ด้านวัฒนธรรม สุวรรณภูมิ และอารยธรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) การเฝ้าระวังภัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของวัฒนธรรม (3) ส่งเสริมและเผยแพร่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้กับบุคลากรของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ (4) การถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมชื่นชมช่วยกันอนุรักษ์ ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สืบไปยังคนรุ่นหลัง

----------------------------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น