Breaking News

รมว.วธ. เร่งงานขับเคลื่อนนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มที่ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งเป้าอบรมผู้มีความพร้อม 20,000 คน พร้อมดึงผู้ประกอบการ ร่วมเจรจาการค้า-จ้างงาน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้เตรียมแผนการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (one family one soft power- OFOS) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผู้ที่มีทักษะด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ 1. แฟชั่น 2. หนังสือ 3. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 4. เฟสติวัล 5. อาหาร 6. ออกแบบ 7. ท่องเที่ยว 8.เกม 9.ดนตรี 10. ศิลปะ และ 11.กีฬา โดยจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หลังจากที่มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของกองทุนหมู่บ้านแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะจัดอบรมให้ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งเป้าหมายผู้เข้าอบรมที่มีศักยภาพ ไม่น้อยกว่า 20,000 คน โดยจะจัดอบรมในจังหวัดที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน อาทิ ด้านออกแบบ จัดอบรมที่กรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมื่อปี 2562 และปี 2566 ตามลำดับ ด้านภาพยนตร์ จัดอบรมที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง วธ. กำลังผลักดันให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์จากยูเนสโกในโอกาสต่อไป โดยกิจกรรมนี้จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมและผลักดันเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามแนวทางของยูเนสโกอีกด้วย





รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการจัดอบรมดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือน โดยเมื่อจัดอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว วธ.จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดงานให้ผู้เข้าอบรมทั้ง 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และผู้ประกอบการมาพบกัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าอบรมมีโอกาสจัดแสดงผลงานและพบกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการเจรจาการค้าและการส่งเสริมผลงานในเชิงธุรกิจ รวมทั้งนำผู้เข้าอบรมเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนตามเป้าหมายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน วธ.จะให้ผู้เข้าอบรมจัดทำบทเรียนการเรียนรู้ของตนเองและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกิดแรงบันดาลใจและนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองต่อไป




ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วธ. ได้ เร่งขับเคลื่อนงานนโยบายงานด้านวัฒนธรรม ที่สำคัญไปบางส่วนแล้ว อาทิ การรับฟังทุกฝ่ายเพื่อปรับกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณีในงาน Thailand Winter Festivals ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2566 อาทิ ชวนนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมยล ชมวัง สักการะศาสนสถาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลอยกระทงสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย ท่องเที่ยวโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Heritage) ร่วมขับเคลื่อนงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนานาชาติ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 จากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศกว่า 60 คน ในงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2023 รวมไปถึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตลอดทั้งปี เช่น งาน “76 จังหวัด 76 เทศกาลประเพณี”แหล่งท่องเที่ยว “ชุมชน ยลวิถี” แหล่งท่องเที่ยว “ตลาดบก ตลาดน้ำ” เส้นทางท่องเที่ยวแห่งศรัทธา ตามรอยพระเถราจารย์ และตำนานความเชื่อพญานาคลุ่มน้ำโขง และในช่วงปีใหม่นี้ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการเตรียมสร้างสิ่งก่อสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำ ร้านขายของที่ระลึก การจัดระเบียบของผู้ที่จะเข้ามาค้าขายต่าง ๆ ที่เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกยูเนสโก โดยต้องคำนึงถึงที่ตั้งที่เหมาะสมและรูปแบบที่ไม่กระทบต่อการเป็นแหล่งที่องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปีใหม่นี้ จะมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางกรมศิลปากรจึงเตรียมพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวในฐานะมรดกโลก รวมถึงได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ เข้าไปอบรมการจัดทำของที่ระลึกกับชาวบ้าน เพื่อต่อยอดในการนำต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมสร้างเป็นมูลค่า ถือเป็น Soft Power อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจากนี้ไปก็จะมีการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อเนื่องต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น