Breaking News

สุดอาลัย…"วันเหยื่อโลก" สสส. หวังกระตุ้นสังคมร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน พบคนตายบนถนนเกือบ 50 คนต่อวัน ป้องกันซ้ำรอยเคสหมอกระต่าย เร่งบูรณาการทุกหน่วยงาน ลดคนตายให้ได้ 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ด้าน “สว.สุรชัย” หวั่นนโยบายเปิดผับถึงตี่ 4 เติมคนเมาแล้วขับลงสู่ถนนมากขึ้น ไม่คุ้มค่าความสูญเสีย ชี้เศรษฐกิจต้องมาพร้อมความปลอดภัยของประชาชน

 

วันที่ 16 พ.ย. 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน จัดกิจกรรม TALK…พลังผู้สูญเสียเพื่อการสร้างความปลอดภัยบนถนน เนื่องใน "วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน"  ปี  2566 (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 19  พ.ย. 2566 



โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวในฐานะประธานในงานว่า วุฒิสภาให้ความสำคัญและดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จากการดำเนินงานมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายด้าน แต่ยังมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอยู่ จากข้อมูลการบูรณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ปี 2554-2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วกว่า 250,000 คน ยังไม่ร่วมผู้บาดเจ็บนับล้านคน โดย 4.6% ของผู้บาดเจ็บจะเป็นผู้พิการ หรืออย่างน้อยครอบครัวละ 3 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 70% เป็นวัยเด็กและวันทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว สาเหตุหลักมาจาก ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่เคารพกฎจราจร และดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ กิจกรรม talk แสดงพลังผู้สูญเสียเพื่อการสร้างความปลอดภัยบนถนนในวันนี้ เพื่อร่วมรณรงค์วันเหยื่อโลก ระลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และเตือนสติให้ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนน รู้สึกร่วมรับผิดชอบทุกชีวิตบนท้องถนน เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน  



“ผมในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ขอส่งเสียงถึงรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการติดตามเกี่ยวกับนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตีสี่ จะเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาพูดคุยว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจะคุ้มค่ากับการเติมผู้ดื่มแล้วขับลงสู่ท้องถนนมากขึ้นหรือไม่ ในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจแม้จะสำคัญในภาวะเศรษฐกิจทดถอย แต่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยของผู้ใช้ชีวิตและทำงานทั้งในกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าในฐานะคนขับ คนโดยสาร คนเดินเท้า ยืนยันว่าเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้ชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทศวรรษปลอดภัยทางถนนที่จะต้องลดคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือไม่เกิน 8,500 คน หรือลดให้เหลือผู้เสียชีวิต 12 คน ต่อประชากรแสนคน จากตัวเลขปี 2565 ที่มีคนตาย 17,000 กว่าคน” นายสุรชัย


นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ แต่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งจัดการ เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนวันละเกือบ 50 คน และมีผู้บาดเจ็บ ผู้พิการจำนวนมาก ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจครอบครัวผู้สูญเสียหรือการดูแลผู้ที่ต้องพิการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ การสร้างความปลอดภัยทางถนนของไทยต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน ซึ่งสสส. ขับเคลื่อนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสีย ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ได้รับผลกระทบ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงผลักดันมาตรการทางนโยบาย กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมสนับสนุนเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนท้องถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570  

“สสส. ร่วมรณรงค์วันเหยื่อโลก โดยเผยแพร่หนังโฆษณา แคมเปญ “#Save สมอง…สวมหมวกกันน็อก สมองไม่น็อก” เน้นสื่อสารผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กับการสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ป้องกันศีรษะและสมองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สื่อสารข้อดีของการสวมหมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในไทย ซึ่งมีมากกว่า 20 ล้านคัน” นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่ของคุณหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เหยื่อถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย กล่าวว่า ทางม้าลายจำเป็นสำหรับประชาชนในข้ามถนนอย่างปลอดภัย แต่ที่ผ่านมากพบว่า มีคนจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลายปีละกว่าพันกว่าคน ปัญหาหามาจากสภาพถนน การทำสัญลักษณ์ไม่ชัดเจน จำนวนรถที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือพฤติกรรมขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร ที่ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุจะทำให้ตนคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่ายจากการรถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่มีกระจกมองข้าง แถมยังขับแซงรถที่ชะลอให้คนข้าม แล้วพุ่งชนจนเสียชีวิต แม้เหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 2 ปี แต่ครอบครัวเรายังเจ็บปวดแสนสาหัส พ่อกับแม่ก็เริ่มแก่ตัว ร่างกายทรุดโทรมแต่ยังต้องขึ้นศาลเพื่อหาความยุติธรรมให้กับลูกของเรา โดยไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนทุกอย่างจะยุติ ทั้งนี้ มองว่าการที่สังคมไทยตีความอุบัติเหตุบนถนนเป็นการกระทำโดยประมาท สามารถยอมความได้ เป็นการลิดรอนคุณค่าชีวิตของผู้สูญเสีย 

“อุบัติเหตุระหว่างข้ามทางม้าลายยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก วันนี้ใกล้ครบรอบ 2 ปี การเสียชีวิตหมอกระต่าย ทางม้าลายในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปจากสีขาว ดำ กลายเป็นสีแดง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันแสดงถึงความปลอดภัยหรือไม่ เพราะบางคนยังละเมิดกฎจราจรสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ดังนั้นขอให้ทุกคนมาร่วมสร้างสังคมใหม่ หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่แซงในเขตทางข้าม ลดหรือชะลอความเร็วเมื่อเห็นป้ายเตือนสีเหลืองทางข้ามเสมอ ไม่จอดรถทับทางม้าลาย อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดเสมอว่า ทางม้าลายต้องปลอดภัย” คุณแม่หมอกระต่าย กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น