Breaking News

เคพีเอ็มจีหนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เสริมกลยุทธ์ธุรกิจด้วยแนวทางสร้างมูลค่าด้วยการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนในด้าน ESG ผ่าน 4 ขั้นตอน

กรุงเทพฯ 28 เมษายน 2566 – เคพีเอ็มจี ประเทศไทย แนะนำแนวทางการการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนโดยสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) สี่ขั้นตอนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ เนื่องจากปัจจัยด้าน ESG มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของธุรกิจในทุกภาคส่วนมากขึ้นเนื่องจากความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ซัพพลายเออร์ และหน่วยงานของรัฐต่างเรียกร้องให้ธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงทุนในการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถให้ประโยชน์ต่อธุรกิจหลายประการ เช่น ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง ความพึงพอใจของลูกค้าที่สูงขึ้น การเข้าถึงแหล่งทุนที่ดีขึ้นในเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย การเข้าถึงผู้มีความสามารถระดับสูง และชื่อเสียงขององค์กรที่ดีขึ้น

เคพีเอ็มจี ได้วางแนวทางการสร้างมูลค่าผ่านกลยุทธ์ ESG ในสี่ขั้นตอนสำหรับ SME ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: การเข้าใจใน ESG

สร้างความมั่นใจว่าทุกคนในองค์กรเข้าใจแรงจูงใจ ประโยชน์ และแนวคิดที่สำคัญของ ESG ทั้งนี้ผู้บริหารทุกท่านให้การสนับสนุนนโยบาย ESG จากระดับบนจนถึงระดับล่าง รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับผู้นำด้านต่างๆ ขององค์กรเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ ESG ที่ราบรื่นสำหรับพนักงานทุกคน 

ขั้นตอนที่ 2: การพัฒนากรอบแนวทาง ESG
รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลตลาด คู่แข่ง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดลำดับหัวข้อ ESG ที่สำคัญต่อองค์กร การรวบรวมข้อมูล ESG อาจเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายของผู้คนในองค์กร ความเสมอภาค การอยู่ร่วมกัน สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้แน่ใจว่าแผน ESG ขององค์กรสามารถทำได้จริง สิ่งสำคัญคือจะต้องจำกัดหัวข้อ ESG ให้แคบลงเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรธุรกิจนั้นๆ
องค์กรมีหน้าที่ดำเนินการศึกษาตลาดและคู่แข่ง และศึกษา "สถานะปัจจุบัน" หรือ "สถานะเป้าหมาย" ของการปฏิบัติภายในขององค์กรเอง และต้องมีการปรึกษาในเชิงลึกกับทั้งภายในองค์กรและกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์กรเพื่อกำหนดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ ESG
ขั้นตอนที่ 3: การออกแบบและการเริ่มโครงการ ESG
พัฒนาแผนปฏิบัติการ ESG ทั่วทั้งองค์กรและเริ่มดำเนินโครงการที่เชื่อมโยงกับหัวข้อ ESG ที่สำคัญต่อองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากโอกาสการเริ่มโครงการนี้  
3 เทรนด์ ESG ของปี 2566:
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ผู้ประกอบการ SME ควรประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินต่อการดำเนินงาน เช่น ผลกระทบทางกายภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และ/หรือ ห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความคาดหวังด้านสภาพอากาศของหน่วยงานกำกับดูแล ลูกค้า เจ้าหนี้ พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การเปิดเผยและการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ SME หลายราย 
เศรษฐกิจหมุนเวียน: ในสภาพแวดล้อมที่ทรัพยากรมีจำกัดและห่วงโซ่อุปทานอยู่ภายใต้ความตึงเครียด เศรษฐกิจหมุนเวียนมีข้อดีหลายประการ เช่น การลดของเสียที่ตกค้าง การปรับปรุงสมดุลของสิ่งแวดล้อม การหาแหล่งรายได้ใหม่ที่มีศักยภาพ และการเพิ่มผลกำไร ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
ความหลากหลายของผู้คนในองค์กรและการอยู่ร่วมกัน: ในตลาดการจ้างงานเต็มรูปแบบ ภาพลักษณ์แบรนด์ของธุรกิจคือตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญ ธุรกิจที่มีสถานที่ทำงานที่พนักงานมีส่วนร่วม มีความเสมอภาค และมีการยอมรับในความหลากหลายของผู้คนในองค์กร จะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่เพียงแต่ในการผลักดันนวัตกรรม ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการเติบโตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดึงดูดบุคคลากรที่มีความสามารถใหม่ๆ และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในองค์กร
ขั้นตอนที่ 4: การวัดและแสดงผล ESG
วัดผลลัพธ์ของแต่ละหัวข้อ ESG ที่สำคัญต่อองค์กร ติดตาม และแสดงให้เห็นผลการดำเนินงาน
“คุณไม่สามารถจัดการสิ่งที่คุณไม่ได้วัดหรือประเมิน” การใช้ระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพในด้าน ESG จะช่วยทำให้ทราบโอกาสในการปรับปรุง การจัดการ แนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินแผนงาน ESG ขององค์กร การเปิดเผยผลการดำเนินโครงการ ESG ขององค์กรสู่ภายนอกเป็นการสร้างโอกาสที่จะได้รับความน่าเชื่อถือและการยอมรับในโครงการ ESG ขององค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก
“SME เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยและมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการบูรณาการปัจจัย ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจนั้น SME ไม่อาจมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายทางธุรกิจในระยะยาวเพียงอย่างเดียวได้ แต่ยังต้องมีส่วนร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย”
ธเนศ เกษมศานติ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว
“ปัจจัยด้าน ESG สามารถส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ความภักดีของลูกค้า ความพึงพอใจของพนักงาน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อผลตอบแทนด้านกำไรและอื่นๆ ดังนั้น การผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์หลักของธุรกิจจะสามารถช่วย SME ลดความเสี่ยง คว้าโอกาส และสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด” ธเนศ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น