Breaking News

วธ.ชูศิลปะร่วมสมัยต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าชุมชน สินค้าทางวัฒนธรรม พัฒนาลายผ้า สร้างโลโก้-สีอัตลักษณ์อำเภอ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ชุมชน จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ในวันที่ 25 – 27 มี.ค.นี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์


วันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 15.00 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการส่งมอบงานลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยฯ  โดยมีนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหัตถกรรมไทย นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ จันทบุรี และสุพรรณบุรี และผู้แทนกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วม ณ ลาน Beacon 2 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยนิทรรศการฯจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2565


นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนงาน วัฒนธรรมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ  เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม วัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการนำมิติ ศิลปะร่วมสมัยด้านการออกแบบมาสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมให้มีความน่าสนใจและโดดเด่น สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม โดยตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 – 2564) โครงการฯนี้ได้ค้นหาและสร้างสรรค์อัตลักษณ์ ท้องถิ่นให้กับ 165 อำเภอ ใน 15 จังหวัดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ และยังมีแผนดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องอีกใน 33 อำเภอ ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งผลงานที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้าง เป็นคอนเทนต์และพัฒนาต่อยอดด้านการออกแบบอัตลักษณ์ของชุมชนในรูปแบบร่วมสมัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชน เช่น สินค้าทางเกษตร สินค้าด้านแปรรูปอาหาร สินค้าวัฒนธรรม ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม ลวดลายผ้า โลโก้อำเภอ สีอัตลักษณ์อำเภอ รวมถึงการออกแบบ ฟอนต์อักษรที่มาจากอัตลักษณ์จังหวัด ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เป็นต้น อีกทั้งได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นและขยายผลไปสู่การตลาดและการบริการด้านการท่องเที่ยว


นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วธ.โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่  จันทบุรี และสุพรรณบุรี ได้สร้างสรรค์ผลงาน จำนวน 28 ผลงาน จาก 28 อำเภอ แสดงถึงคุณค่า ของวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว พืชผล และอาชีพเฉพาะถิ่น สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในชุมชนมีการเรียนรู้ ระดมความคิดผ่านภาครัฐ เอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชน ทำให้เข้าใจการต่อยอด วัฒนธรรม ถือเป็นต้นแบบกระบวนการทำงานทำให้สังคมท้องถิ่นเข้าใจ และภูมิใจในอัตลักษณ์นำไปสู่การเพิ่มพูนรายได้ในแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน 



ทั้งนี้ ภายในงานนิทรรศการฯ ประกอบด้วยผลงานและองค์ความรู้การออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นของ 3 จังหวัดเป้าหมาย ผลงานการพัฒนาต่อยอด ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งขับเคลื่อนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวธ.โดยสศร. และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และการจำหน่ายสินค้าจากชุมชน/ผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ช่วย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็น นโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ การนำทุนทาง ศิลปวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างสรรค์เป็น Soft Power เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม บริหารทุนทางวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่มหาศาล ออกมาเป็นเสน่ห์ แห่งความเป็นไทย สร้างรายได้แก่ชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจ ฐานรากให้เข้มแข็งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยในทุกมิติ

ไม่มีความคิดเห็น